วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

เพราะ Inventory ไม่ได้แบ่งแค่ ABC ลองจัดให้เหมาะแบบ VED-SED ดูบ้าง

ช่วงนี้หลายสถานประกอบการ หลายๆหน่วยงานกำลังขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีในการผลิต เกิดการใช้เครื่องจักร Robotics ระบบอัตโนมัติ ระบบ AI และสิ่งไม่มีชีวิตอีกหลายชนิด เพื่อทำหน้าที่ปฏิบัติงานแทนแรงงาน

แน่นอนครับ การเกิดขึ้นของสิ่งเหล่านี้ย่อมมีผลกระทบต่อการทำงานสำหรับแรงงาน แม้มันจะไม่บ่น ไม่กินข้าว ไม่เรียกร้องโบนัส สวัสดิการ แต่ในทางกลับกันในทุกๆ เดือนสิ่งไม่มีชีวิตเหล่านี้จะกิน Resource อื่นๆ  เช่น พลังงาน สารหล่อลื่น และอะไหล่สำหรับซ่อมแซมเมื่อมันสึกหรอ ซึ่งแต่ละเมนูส่วนใหญ่จะแพง และนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ ปล่อยให้กินทิ้งกินขว้างไม่เป็นผลดี นอนจอดรอก็ไม่ดี และเงินจมแน่นอน สุดท้าย Asset Management Efficiency ก็ลดลง

คำถามมีอยู่ว่า "แล้วเราวางระบบการดูแลคลังเสบียงของสิ่งไม่มีชีิวิตเหล่านี้ดีแล้วหรือยัง?

Blog นี้ผมเลยขอเสนอเทคนิคในการบริหารคลังเสบียงของสิ่งไม่มีชีวิตเหล่านี้ มาดูกันว่าควรทำไง

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าศาสตร์ของการบริหารสินค้าค้งคงคลังที่ผู้คนส่วนใหญ่ร่ำเรียนกันมาจากสำนักตักศิลาต่างๆ มักจะบอกว่า การจัดกลุ่มของสินค้าคงคลังจะใช้หล้ก ABC Classification

"ABC คือ การจำแนกวัสดุคงคลังเป็นประเภท โดยพิจารณาปริมาณและมูลค่า ความต้องการวัสดุคงคลังแต่ละรายการเป็นเกณฑ์ เพื่อลดภาระในการดูแล ตรวจนับ และควบคุมวัสดุคงคลังที่มีอยู่มากมาย ซึ่งถ้าควบคุมทุกรายการอย่างเข้มงวดเท่าเทียมกัน จะเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมากเกินความจำเป็น "

แต่สำหรับการจัดการคลังเสบียงของพวกอะไหล่หรือ Spare part ซึงในภาษาสากลเรียกว่า MRO-Maintenance Repair and Operation อาจไม่เหมาะสมสำหรับการแบ่งแบบ ABC แต่ควรแบ่งตามหลักของ VED Classification ซึ่งเป็นปัจจัยที่ 1 ที่ต้องพิจารณา

"VED Classification ป็นการแบ่งสินค้าคงคลังตามค่าความวิกฤตของวัสดุแต่ละประเภท โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีความสำคัญมาก (Vital), กลุ่มที่มีความจำเป็น (Essential) และกลุ่มที่มีความสำคัญน้อย (Desirable)" ดังภาพ

เอาละซิทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะว่าพวกอะไหล่และอุปกรณ์สนับสนุนต่างๆ เป็นวัสดุเฉพาะ และมักใช้ทดแทนกันไม่ได้ ดังนั้นถ้าไม่มี จะส่งผลโดยตรงต่อกระบวนการทำงาน เครื่องจักรและอุปกรณ์ อาจใช้ไม่ได้ และบางครั้งมีผลโดยตรงต่อคุณภาพการผลิตและระบบสิ่งแวดล้อม และบางรายการกฎหมายกำหนดต้องมีขาดไม่ได้ เช่น อุปกรณ์เกี่ยวกับระบบความปลอดภัยหรือระงับเหตุฉุกเฉินเป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้นวัสดุเหล่านี้ไม่ใช่จะหาซื้อกันง่ายๆ มีขายโดยทั่วไป สั่งซื้อแต่ละครั้งต้องใช้เวลา ยิ่งเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้มานาน หรือซื้อมือ 2 มาใช้ ยิ่งไม่รู้เลยจะซื้อจากที่ไหน เพราะผู้ที่เคยดูแลในอดีตก็หายตัวไปจากองค์กรแล้ว ดังนั้นปัจจัยที่ 2 ที่ต้องพิจารณาเพิ่ม คือ SED Classsifaction

"SED Classification ป็นการแบ่งสินค้าคงคลังตามช่วงในเวลาในการส่งมอบหรือ Lead time ของการสั่งซื้อ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มขาดแคลน (Scarce), กลุ่มซื้อยาก-นาน (Difficult) และกลุ่มซื้อง่าย (Easy)" ดังภาพ


และเมื่อ 2 ปัจจัยนี้มีผลต่อการดำเนินงาน งั้นเราก็ต้องนำ 2 ปัจจัยนี้มาพิจารณาองค์ประกอบร่วม และเกิดเป็นแนวทางในการจัดการสินค้าคงคลังประเภท VED-SED Classification 

"VED-SDE คือ การจัดแบ่งสินค้าคงคลังใน 2 มิติ โดยใช้ความสำคัญ/จำเป็นของวัสดุนั้นๆ กับ L/T ในการสั่งซื้อหรือจัดหาวัสดุ"  


โดยจากภาพจะเห็นได้ว่าเราสามารถแบ่งวัสดุออกได้เป็น 9 กลุ่ม ซึ่งในทางปฏิบัติเราอาจควบรวมบางกลุ่มเพื่อบริหารร่วมกันได้ โดยมีนัยสำคัญที่ต้องดำเนินการต่างๆ เช่น

1. กรณีสินค้าคงคลังมีความสำคัญมาก (V-Vital) และใช้ระยะเวลาในการจัดซื้อหรือจัดหานานเนื่องจากขาดแคลน (S-Scare) เราจำเป็นต้องวางกลยุทธ์การบริหารวัสดุคงคลังนี้เป็น "จัดเก็บเป็น Stock สำรอง" ส่วนปริมาณ Stock ที่ควรมีเท่าไร อันนี้ท่านต้องไปต่อยอดเพื่อคำนวนหาระดับ Stock Level ที่เหมาะสมต่อไป

2. กรณีสินค้าคงคลังมีความสำคัญน้อย (D-Desirable) และใช้ระยะเวลาในการจัดซื้อหรือจัดหาน้อย หาซื้อได้ง่าย (E-Easy) เราจำเป็นต้องวางกลยุทธ์การบริหารวัสดุคงคลังนี้เป็น "Non-Stock" หรือกล่าวง่ายๆ คือไม่ต้อง Stock เลยก็ได้ หรือถ้ามีก็มีแค่เล็กๆ น้อย

ส่วนแนวทางการอื่นๆ ก็ลองพิจารณาจากตาราง Matrix ที่ทำให้นะครับ 

เป็นไงบ้างครับแนวทางการบริหารคลังเสบียงของสิ่งไม่มีชีวิต ที่จะต้องจัดการอย่างเข้มข้น เคียงคู่ไปกับการเข้าไปสู่ Industry 4.0 ของประเทศเรา และอย่างที่บอกนะครับ ที่นำเสนอนี้เป็นแค่แนวคิดเบื้องต้นในการจัดเแบ่งวัสดุคงคลังให้เหมาะสมกับงาน แต่การกำหนดระดับวัสดุคงคลัง และการบริหารการจัดซื้อที่มีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการต่อหลังจากนี้

มงคล  พัชรดำรงกุล
02 กุมภาพันธ์ 2561
   


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Inv. EP01 - บริหารคลังสินค้า VS จัดการสินค้าคงคลัง

การดำเนินกิจกรรมการจัดการคลังสินค้า และการบริหารสินค้าคงคลัง ของแต่ละสถานประกอบการ บ่อยครั้งพบว่ามีความสับสนในการกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิด...