วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

การจัดการความต้องการที่ผันแปร ภายใต้สภาวะความต้องการที่ผันผวน

เมื่อปริมาณความต้องการ (Demand) สินค้าที่บางรายการมีมาก บางรายการก็น้อย อีกทั้งยังมีความผันผวนจนตอบสนองไม่ถูก ชีวิตในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าช่างดูวุ่นวายซะจริงๆ พยายามพยากรณ์ความต้องการก็แล้ว ซื้อโปรแกรมมาช่วยก็แล้ว สต๊อกให้มันเยอะๆ ก็แล้ว สุดท้ายก็มีเรื่องเจ็บตัวและให้แก้ไขกันอยู่บ่อยๆ 


ใช่แล้วครับ  สูตรสำเร็จของการทำงานไม่ได้ง่าย ไม่ได้อยู่แค่สต๊อกสินค้าให้มากเพื่อมีของขายลูกค้า เพราะสุดท้ายเงินจม สต๊อกบาน ต้นทุนสูง และก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างต้องพยากรณ์ให้แม่นยำ ต้อง Lean เพราะถ้าไม่แม่นจริงก็เสี่ยงที่จะของขาดของเกินอยู่ดี สุดท้ายหนีไม่พ้น ต้นทุนก็สูงอีก

ชีวิตการทำธุรกิจ ก็เหมือนการใช้ชีวิต ที่ต้องเดินสายกลาง เทคนิคและวิธีการต่างๆ ไม่ได้เป็นยาวิเศษที่สามารถรักษาได้ทุกโรค วันนี้เลยเอาแนวทางสายกลางมาแบ่งปันให้เห็นว่า สถานการณ์แบบใด ก็ใช้เทคนิคและวิธีการอย่างไร ดูภาพประกอบนะครับ


วิธีการที่ควรใช้ในการจัดการปริมาณความต้องการที่ผันแปร ภายใต้ความต้องการที่ผันผวน

จากภาพ ผมแบ่งเป็น 2 มิติในการมอง คือ มิติที่ 1 คือ มองปริมาณความต้องการ มิติที่ 2 คือ มองความผันผวน แล้วนำ 2 มิติมาบูรณาการด้วยการประยุกต์ Matrix 2x2 จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็น 4 ประเภทดังนี้

1. ปริมาณความต้องการมีน้อย และผันผวนน้อย ถ้าเจอแบบนี้ละก็สามารถคาดการณ์ความต้องการได้ง่าย อีกทั้งมีผลกระทบต่อการดำเนินงานน้อย ลองเก็บข้อมูลเป็นสถิติ แล้วนำมาใช้ประโยชน์บางซิ หรือทำ Forecast ไปด้วยเลย ความแม่นยำไม่น่าจะไกลเกินเอื้อม หลักการทำงานแบบ Lean ก็มีส่วนช่วยอย่างมากในการทำงานกลุ่มนี้  

2. ปริมาณความต้องการมีน้อย แต่ผันผวนเยอะ  ถ้าเจอแบบนี้ละก็ ผมว่าต้องสร้างความเป็นเทพเรื่องการจัดการสินค้าคงคลังให้ดีแล้วล่ะ เพราะเราจำเป็นต้องมีการจัดเก็บเป็นระดับสินค้าคงคลังสำรองบ้างแล้ว แต่จะเท่าไรดี คงต้องมีทักษะเรื่องนี้พอสมควร เพราะเก็บเยอะก็คงไม่ดี ไม่มีสำรองไว้ก็คงไม่เหมาะ

3. ปริมาณความต้องการมีมาก แต่ผันผวนน้อย  ถ้าเจอแบบนี้ละก็ ใจชื้นขึ้นมากสักหน่อย เพราะไม่ผันผวนแล้ว ดังนั้นหยิบ Model การพยากรณ์ขึ้นมาใช้เลย (์Note : แต่ถ้าเป็นการผลิตตามสั่ง ถ้าคิดว่าทำได้เร็วกว่าเวลาที่ลูกค้าอยากได้ ก็ไม่ต้องสต๊อกไรเลยนะ เกิดต้นทุนเปล่าๆ แล้วอย่าลืมเสริมสร้างความแรงด้วยหลักการของ Lean ด้วยนะครับ) นอกจากนี้ยังต้องใส่ใจปริมาณความต้องการที่ผิดปกติจากพื้นฐานทั่วๆไปด้วย เช่น ปริมาณความต้องการที่เกิดจากการจัดโปรโมชั่นเป็นต้น

4. ปริมาณความต้องการมีมาก และผันผวนมาก  ถ้าเจอแบบนี้ละก็ ยากและเหนื่อยที่สุดเลย เพราะสถานการณ์แบบนี้คาดการณ์ก็ยาก ผลกระทบก็เยอะ แต่อย่าตกใจไป แนวทางการสร้างความเชื่อมโยงร่วมกัน คือ หัวใจในการจัดการสินค้าที่มีลักษณะแบบนี้ จัดไป "การทำ Collaboration Planning" รู้ใ้ชัดเจนร่วมกันไปเลยในทุกจุดทั้งโซ่อุปทาน (Supply Chain) ส่วนการบริหารองค์กรก็ต้องใส่ใจวิธีการทำงานแบบ Agile Management สักหน่อยนะครับ

เป็นไงบ้างครับ ลองไปใช้กันดู ท่านอาจจะมีวิธีการและวิธีคิดที่ดีกว่าผม ผมเชื่อว่าใครอยู่และเข้าใจกับสถานการณ์และปัญหา น่าจะสามารถ Design รูปแบบและมุมมองในการได้หลากหลายกว่านี้ก็เป็นไปได้ ขอให้โชคดีในการทำให้หน่วยงาน และองค์กรดีขึ้นๆ ทุกวันนะครับ แค่นี้คุณก็อยู่เพื่อสร้างคุณค่าที่ดีให้กับองค์กรอยู่เสมอแล้วครับ


มงคล  พัชรดำรงกุล
วิทยากร/ที่ปรึกษา/ผู้เชี่ยวชาญการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน และการเพิ่ม Productivity องค์กร  
LineID : naitakeab, Tel 081-8476479 
20 พฤศจิกายน 2561

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Inv. EP01 - บริหารคลังสินค้า VS จัดการสินค้าคงคลัง

การดำเนินกิจกรรมการจัดการคลังสินค้า และการบริหารสินค้าคงคลัง ของแต่ละสถานประกอบการ บ่อยครั้งพบว่ามีความสับสนในการกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิด...