วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2561

กลั่น SCOR Model : Model เพื่อการจัดการโซ่อุปทาน ให้เรียนรู้และเข้าใจ ใน 1 Page

ชีวิตการทำงานส่วนใหญ่ของผมจะเกี่ยวข้องอยู่เกี่ยวกับการพัฒนาตลอดโซ่อุปทานซะส่วนใหญ่ และบ่อยครั้งได้บรรยายตัวแบบในการพัฒนาด้าน Supply Chain ที่มีชื่อเรียกขานว่า SCOR แต่ก็ไม่เคยเรียบเรียงทำเป็นภาพสรุปให้เห็นแบบชัดๆ กระชับๆ เข้าใจง่ายสักที 

จนมีหลายคนและหลายวงเสวนามีคำถามหลายครั้งฝากบอกผมว่า ช่วยทำให้เห็นภาพ SCOR ver.11 ทั้ง 976 หน้า โดยย่อยให้เหลือ 1 หน้าได้ไหม เอาแบบภาษาง่ายๆ ด้วยนะ เอาเหมือนที่อาจารย์สอน และวิชาการน้อยๆ นำไปประยุกต์ใช้ได้ด้วย...หุหุ เจอโจทย์ยากเลย


Update ข้อมูลเพิ่มเติมครับ ตอนนี้ SCOR ออก Revision ใหม่เป็นที่เรียบร้อยเมื่อ 16 ตุลาคม 2560 เป็น SCOR 12.0 แล้ว แต่โครงสร้างไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก แต่ก็พัฒนาไปเยอะเช่นกัน ยังไงก็ดูจาก Blog นี้เป็นฐานไปก่อน แล้วไปอ่านต่อได้ที่ Blog
 "SCOR 12.0 : Version ใหม่ล่าสุด ของการจัดการโซ่อุปทานจาก APICS"

และแล้วความต้องการในวันนั้น เลยทำให้วันนี้มีโอกาส เลยจัดการย่อยมันให้เห็น 1 Page ใน Version ภาษาไทย แต่ปน English บ้างไปหน่อย แต่การอธิบายอาจจะมากกว่า 1 Page นะครับ ลองดูกัน ฮิฮิ
SCOR Structure-1

ทั้งนี้ SCOR 1 Page ที่ย่อยมาจาก SCOR model ver.11 นั้น จะประกอบด้วย 3 ส่วนประกอบสำคัญดังนี้

1.  ขอบเขตการดำเนินงานของตัวแบบ SCOR สามารถจัดแบ่งได้ 4 ระดับ
  • ระดับที่ 1 - ระดับกระบวนการ (Process Type) ระดับนี้เป็นระดับสูงสุด โดยเป็นการระบุถึงขอบเขตและส่วนประกอบต่างๆ ของการจัดการซัพพลายเชน โดยพิจารณาถึง 6 กระบวนการดำเนิงานมาตรฐานของการจัดการโซ่อุปทาน (คือ กระบวนการ Plan Source Make Deliver Return Enable) ว่ามีกระบวนการใดบ้างที่ธุรกิจต้องดำเนินการบริหารจัดการ เช่น หากสถานประกอบการดำเนินธุรกิจกิจซื้อมา-ขายไป หรือให้บริการ ก็ไม่ต้องมีจัดการเกี่ยวกับกระบวนการ Make  แต่หากมีกระบวนการในการแปรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ก็จำเป็นต้องมีการจัดการเกี่ยวกับกระบวนการ Make ด้วย และเมื่อระบุขอบเขตของกระบวนงานที่เกี่ยวข้องได้แล้ว ในขั้นตอนนี้ยังต้องกำหนดเป้าหมายของตัวชี้วัดประสิทธิผลของการดำเนินงานของซัพพลายเชนในระดับกลยุทธ์เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ว่าให้สถานประกอบการให้ความสำคัญกับเรื่องใด ภายใต้สมรรถนะหลัก 5 ด้าน หรือ P-Performance  อันได้แก่ Reliability Responsiveness Agility Cost และ Asset Management Efficiency
  • ระดับที่ 2-ระดับประเภทกระบวนการ (Process Categories) ระดับนี้เป็นระดับของการกำหนดองค์ประกอบหรือประเภทของของกระบวนการที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นการขยายให้เห็นถึงกระบวนการต่างๆที่มีอยู่ในระบบซัพพลายเชนว่ากระบวนการดำเนินงานที่ได้ระบุขอบเขตไว้นั้นเป็นแบบประเภทใด เช่น สถานประกอบการมีกระบวนการผลิตที่ต้องดำเนินการจัดการ ในกระบวนการผลิตที่ต้องจัดการนั้นเป็นแบบผลิตตามคำสั่งซื้อ (M2-Make to order) หรือแบบการผลิตเพื่อเก็บเป็น Stock (M1-Make to stock) เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นการกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินงานว่าให้ความสำคัญกับกระบวนการดำเนินงานและประเภทของกระบวนการดำเนินการใดเป็นสำคัญภายใต้ระบบซัพพลายเชนนั้น เช่น มุ่งเน้นให้การจัดหาวัตถุดิบจากผู้ส่งมอบที่มี Stock เป็นหลักเป็นต้น ในขั้นนี้หากสถานประกอบการที่นำ SCOR ไปประยุกต์ใช้จำเป็นจะต้องเขียนโครงสร้าง Supply Chain ให้ชัดเจน และแสดงความเชื่อมโยงของกระบวนการดำเนินงานในแต่ละกระบวนการให้เห็น หรือเรียกการจัดทำในส่วนนี้ว่า การจัดทำ Execution Process Mapping และการจัดทำ Geographical Mapping
  • ระดับที่ 3-ระดับองค์ประกอบกระบวนการ (Process Element) ระดับนี้เป็นระดับของการระบุองค์ประกอบภายใต้กระบวนการแต่ละประเภท (ที่กำหนดความเชื่อมโยงไว้ในระดับ 2) อาจกล่าวได้ว่าเป็นการระบุให้เห็นถึงขั้นตอนการทำงานในแต่ละประเภทของกระบวนการที่ได้กำหนดไว้ในระดับที่ 2 โดยในแต่ละองค์ประกอบของแต่ละกระบวนการนั้นจะมุ่งเน้น
    • นิยามองค์ประกอบของกระบวนการ
    • ข้อมูลป้อนเข้าและผลลัพธ์ของกระบวนการ
    • กำหนดตัวชี้วัดสมรรถนะของกระบวนการ
    • หลักการปฏิบัติ (Practice) ของกระบวนการ
    • ความสามารถด้านเทคโนโลยีของกระบวนการ
    • ทักษะของผู้ปฏัติงานในกระบวนการ
  • ระดับที่ 4-ระดับกิจกรรม (Activity) ระดับนี้เป็นระดับของกิจกรรมดำเนินการภายในซัพพลายเชน อาจกล่าวได้ว่าเป็นระดับของการพัฒนาปรับปรุงให้เกิดขึ้นภายในซัพพลายเชน โดยเป็นการระบุถึงกิจกรรมที่ต้องทำ หน่วยงานหรือกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ในระดับนี้มีการนำหลักการปฏิบัติ (Practice)ที่เหมาะสมมาใช้พัฒนาปรับปรุง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่ง Practice ที่นำมาใช้สามารถจำแนกได้ตามกระบวนงาน ขั้นตอน หรือ Function ของงานที่ทำ
กล่าวโดยรวม เพื่อความเข้าใจง่ายๆ ในส่วนของขอบเขตการดำเนินงาน จะมี 4 ขั้นที่ต้องทำ คือ "ระบุกระบวนการให้ได้ เลือกใช้กระบวนการเป็น วัดผลได้ชัดเจน เน้นการปรับปรุง"

2. โครงสร้างของตัวแบบ SCOR (SCOR Structure) ประกอบด้วย 4P ที่ต้องจัดการและควบคุม คือ
  • Process หมายถึง กระบวนการดำเนินงานและขั้นตอนการดำเนินงานตลอดซัพพลายเชนที่จะต้องควบคุมและดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ในตัวแบบ SCOR ได้อธิบายให้เห็นถึงกระบวนการดำเนินงานและขั้นตอนต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน โดยใช้รหัสสัญลักษณ์อธิบายกระบวนการต่างๆ โดยแต่ละกระบวนการดำเนินงานหรือขั้นตอนของงาน
  • Performance หมายถึง สมรรรถนะหรือประสิทธิผลของการดำเนินงาน ซึ่งในตัวแบบ SCOR ได้กำหนดตัวชี้วัดมาตรฐานเพื่อวัดสมรรถนะขององค์กรทั้งเป้าหมายเชิงกลยุทธ์และในแต่ละกระบวนการดำเนินงานหรือขั้นตอนการทำงานตลอดซัพพลายเชน โดยมีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกันตั้งแต่ตัวชี้วัดเชิงกลยุทธ์ กระบวนการดำเนินงาน จนกระทั่งถึงขั้นตอนการทำงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ
  • Practice หมายถึง หลักการปฏิบัติ หรืออาจหมายความร่วมถึงเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการดำเนินงาน และส่งเสริมให้ตัวชี้วัดนั้นๆ มีสมรรรถนะหรือประสิทธิภาพของการดำเนินงานที่ดีขึ้น ทั้งนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงความสามารถของบุคลากร (People) ที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อช่วยขับเคลื่อนให้การใช้หลักการปฏิบัตินั้นๆ ให้ประสบผลสำเร็จ หลักการปฏิบัติที่ได้รวบรวมไว้ในตัวแบบ SCOR Revision 11.0 มีจำนวนทั้งสิ้น 175 หลักปฏิบัติ โดยได้จำแนกหลักการปฏิบัติออกเป็น 4 กลุ่ม คือ Decline Practices, Standard Practices, Best Practices และ Emerging Practices โดยยังสามารถเลือกใช้หลักการปฏิบัติให้เหมาะสมกับลักษณะของงาน (Categories) ที่ทำได้อีกด้วย
  • People หมายถึง ความสามารถของผู้ปฏิบัติงานที่จำเป็นในการจัดการซัพพลายเชน (Supply Chain Management) โดยจะมีการเชื่อมโยงกับกระบวนการดำเนินงาน ตัวชี้วัดสมรรถนะ และหลักปฏิบัติ เรื่องนั้นๆ ทั้งนี้ในตัวแบบ SCOR จะให้ความสำคัญกับทักษะ (Skill) ที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานนั้นๆ และจะแสดงให้เห็นว่าทักษะที่จำเป็นนั้นต้องมี ประสบการณ์ (Experience) ความถนัด (Aptitude) และการฝึกอบรม (Training) ใดบ้าง
3. แนวคิดในการจัดการสิ่งแวดล้อมของตัวแบบ SCOR (Green SCOR)   ในส่วนท้ายของ SCOR Model Version 11.0 จะมีการอธิบายถึงแนวคิดเกี่ยวกับ Green SCOR เพื่อใช้เป็นแนวทางอ้างอิงสำหรับการจัดการซัพพลายเชนให้เกิดการมุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม โดยจะพิจารณาจากการปลดปล่อยมลภาวะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ ดังนี้
  • Carbon Emission (Tons CO2 Equivalent)
  • Air Pollutant Emissions (Tons or kg)
  • Liquid Waste Generated (Tons or kg)
  • Solid Waste Generated (Tons or kg)
  • % Recycle Waste (Percent)
เป็นไงบ้างครับ หวังว่าการกลั่น SCOR Model ให้เข้าใจภายใต้ภาพ 1 Page คงมีส่วนช่วยให้เข้าใจตัวแบบ SCOR กันมากขึ้นนะครับ..สวัสดีครับ


มงคล  พัชรดำรงกุล
วิทยากร/ที่ปรึกษา/ผู้เชี่ยวชาญการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 
LineID : naitakeab, Tel 081-8476479 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Inv. EP01 - บริหารคลังสินค้า VS จัดการสินค้าคงคลัง

การดำเนินกิจกรรมการจัดการคลังสินค้า และการบริหารสินค้าคงคลัง ของแต่ละสถานประกอบการ บ่อยครั้งพบว่ามีความสับสนในการกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิด...