วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2561

ปรับธุรกิจให้สร้างคุณค่า พัฒนาสู่ GVC (Value Creation to Global Value Chain)

เมื่อเราหยิบสินค้า 1 อย่างที่อยู่รอบๆ ตัวเรา มาพิจารณาถึงองค์ประกอบที่เกิดขึ้นอย่างที่ถ้วน จะพบว่าผ่านการจัดซื้อ/จัดหา การแปรรูป และการจัดส่งจากผู้คนที่เกี่ยวข้องหลายๆคน หลายๆเชื้อชาติ หลายพื้นที่ หลายประเทศที่ผลิต รวมทั้งหลากหลายผู้ใช้งาน 
ความเชื่อมโยงของ Supply Chain - Demand Chain -Value Chain และ Global Value Chain

ใช่แล้วครับ โลกปัจจุบันกำลังเข้าสู่โซ่คุณค่าของโลก (Global Value Chain) อย่างสมบูรณ์ และกลุ่มธุรกิจของไทยที่เข้าไปเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับโซ่คุณค่าของโลกนี้ และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ กลุ่มอุตสาหกรรม SMEs ซึ่งจากข้อมูลผลการสำรวจสำมะโนธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรม ปี 2560 แสดงให้เห็นว่าจำนวนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ไทย เพิ่มขึ้นเป็น 3,004,679 ราย มีการจ้างงานทั้งสิ้น 11,747,093 ราย โจทย์สำคัญที่เราต้องคิดและกำหนดขึ้นก็คือ “เราต้องทำอย่างไรให้การเชื่อมโยงของ SMEs ไทยในโซ่คุณค่าโลกเส้นนี้มีความแข็งแรง ยั่งยืน และสร้างคุณค่าให้กับประเทศไทยสูงสุด?”

เมื่อกล่าวถึงคำว่า “การบริหาร Chain หรือโซ่” ในโลกของการบริหารจัดการเราควรเข้าใจในเชิงบริบทและความสัมพันธ์ของคำว่า Chain 4 คำที่เป็นคำที่คุ้นหูกันอยู่ในแวดวงการจัดการ นั้นก็คือ
1. Demand Chain หัวใจคือ บริหารสิ่งที่ลูกค้าต้องการให้เกิดขึ้น
2. Supply Chain หัวใจคือ บริหารทรัพยากรเพื่อตอบความความต้องการของลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
3. Value Chain หัวใจคือ การค้นหา พัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการเพื่อตอบสนองคุณค่าที่ลูกค้าอยากได้
4. Global Value Chain หัวใจคือ แหล่งใดในโลกนี้ที่ควรทำหน้าที่สร้างแต่ละคุณค่าที่ลูกค้าอยากได้


โดยเรื่องของ Value Chain และ Supply Chain เป็นเรื่องที่กล่าวถึงกันมาก และเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากขึ้นในปัจจุบัน โดยหากกล่าวถึง Value Chain หลายคนก็จะนึกถึงภาพของ Porter’s Value Chain หรือถ้ากล่าวถึง Supply Chain ก็จะนึกถึง SCOR Model สำหรับผมแล้วพยายามบูรณาการทั้ง 2 องค์ประกอบเข้าด้วยกัน และเชื่อมโยงให้เห็นไปถึงภาพโซ่คุณค่าของโลก (Global Value Chain) ซึ่งจะใช้ปัจจัยต่างๆ ในการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่หรือ location ใดๆ ในโลกนี้ที่สามารถสร้าง Value ให้กับ Product หรือ Service ที่เหมาะสมที่สุด ที่ใดที่เหมาะสม ที่นั้นก็จะถูกเลือกเป็นพื้นที่สร้างคุณค่า (Value) และถ้าคุณค่านั้นๆ ถูกกำหนดและสร้างขึ้นจากประเทศไทย ก็น่าจะเป็นการดีอย่างยิ่ง ส่วนปัจจัยใดๆ บ้างที่นำมาพิจารณาดูได้จากภาพนะครับ

จากภาพจะเห็นได้ว่าจุดเริ่มต้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโช่คุณค่าของโลกจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain) ซึ่งเน้นการบริหารวัตถุดิบหรือทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการจัดการโช่ความต้องการ (Demand Chain) ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญที่กิจการต้องดำเนินการควบคุมกันไป โดยมุ่งเน้นการดำเนินการที่ตอบสนองต่อความต้องการลูกค้า และทั้ง 2 องค์ประกอบนี้จะอยู่ภายใต้ภารกิจเดียวกันคือสร้างคุณค่าที่ลูกค้าต้องการ (Value Chain)

ส่วนในวงนอกจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการสร้างคุณค่าเพิ่มโดยมีปัจจัยในการพิจารณาทั้งหมด 7 ปัจจัย คือ


  1. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คือ ความพร้อมของระบบเทคโนโลยีและการสื่อสารในพื้นที่นั้นๆ ว่ามีประสิทธิภาพตอบสนองต่อการดำเนินธุรกิจอย่างไร
  2. การศึกษา การทดสอบและการฝึกอบรม คือ ระดับความรู้ความสามารถของบุคลากรในพื้นที่ ความพร้อมของหน่วยทดสอบผลิตภัณฑ์หรือการปฏิบัติการต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับธุรกิจ ระบบในการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร ฝีมือแรงงาน
  3. NGO และระบบมาตรฐานต่างๆ คือ บทบาทขององค์กรภาคเอกชนที่ทำหน้าที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองมีส่งเสริมหรือไม่อย่างไร รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อมาตรฐานต่างๆ ที่จำเป็น เช่น มาตรฐานแรงงาน มาตรฐานคุณคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย ฯลฯ
  4. การค้าและสมาคมวิชาชีพ คือ บทบาทสมาคมการค้า หรือสมาคมวิชาชีพต่างๆ ช่วยสนับสนุนส่งเสริมมากน้อย
  5. โครงสร้างพื้นฐานและการเงิน คือ สภาพโครงสร้างพื้นฐานและความมั่นคงของระบบการเงิน ค่าจ้าง ภาษี ฯลฯ ของพื้นที่นั้นๆ
  6. สภาพแวดล้อมที่จำเป็น คือ สภาพแวดล้อมของระบบการดำเนินงานต่างๆ ในพื้นที่นั้นมีส่วนส่งเสริมต่อการดำเนินธุรกิจอย่างไร
  7. การอำนวยความสะดวกของรัฐ คือ การอำนวยความสะดวก การส่งเสริมของรัฐ กฎระเบียบ เงื่อนไขการปฏิบัติต่างๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ
ดังนั้นการบริหารจัดการในมิติต่างๆ จะมีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันหมด ขยายจากวงเล็กๆ จาก Supply Chain, Demand Chain Value Chain และจาก Value Chain ก็สู่ Global Value Chain

การที่ SMEs จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญที่จะต้องนำมาใช้ในการขับเคลื่อนนั้นก็คือ การสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้น (Value Creation) โดยหลักการของการสร้าง Value ภายใต้ 1 ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นได้มีผู้เชี่ยวชาญได้จำลองภาพการสร้างคุณค่า (Value Creation) เป็นภาพรอยยิ้ม (Smile Curve) ซึ่งแต่ละจุดภายใต้ Smile Curve มีคุณค่าที่เกิดขึ้นไม่เท่ากัน
Value Add จากกิจกรรมต่างๆตลอดกระบวนการทางธุรกิจ
จากภาพ Smile Curve จะเห็นได้ว่ากระบวนการที่สร้าง Value (Value Creation/Value Add) ที่สูงสุดส่วนใหญ่จะเป็นงานเกี่ยวการออกแบบและพัฒนา รวมทั้งการตลาดและขาย ดังนั้นอาจกล่าวได้ “ใครที่เป็นผู้ออกแบบและทำหน้าที่ขายสินค้าได้เอง จะได้ประโยชน์จากมูลค่าของ Product สูงสุด” คำถามคือกิจการของเรา ได้ทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดีแล้วใช่หรือไหม ??? หากยังไม่ใช่ เราอยู่จุดใดของ Smile Curve นี้และควรปรับเปลี่ยนหรือวางกลยุทธ์อย่างไรให้เหมาะสม

สิ่งหนึ่งที่เป็นไปได้ หากพบว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งใน Value Creation ที่เจ้าของ Product กำหนดไว้ ทางเลือกที่เราควรทำ คือการพัฒนากระบวนการทำงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นนวัตกรรมการดำเนินงาน (Process Innovation) และพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ที่เป็นนวัตกรรม (Product/Service Innovation) ที่มีคุณค่า (Value Creation) และสามารถส่งต่อหรือขยายผลในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมั่นใจกลายเป็นนวัตกรรมรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ (Business Model Innovation) ได้ในท้ายที่สุด

ที่สำคัญหากกระบวนการในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น กิจการได้มุ่งใช้ Resource อันประกอบไปด้วย Man, Machine, Materials ที่ผลิตและสร้างได้ในประเทศของเรา เมื่อนั้นก็จะกลายเป็นประโยชน์สำหรับประเทศมากยิ่งขึ้น และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังและเตบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

ลองไปทบทวนและประยุกต์ปรับใช้กันดูนะครับ


มงคล  พัชรดำรงกุล
วิทยากร/ที่ปรึกษา/ผู้เชี่ยวชาญการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 
LineID : naitakeab, Tel 081-8476479 

31  มีนาคม 2561

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Inv. EP01 - บริหารคลังสินค้า VS จัดการสินค้าคงคลัง

การดำเนินกิจกรรมการจัดการคลังสินค้า และการบริหารสินค้าคงคลัง ของแต่ละสถานประกอบการ บ่อยครั้งพบว่ามีความสับสนในการกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิด...