วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561

สมรถนะการทำงานที่ใช่ กับ Style กับทำงานที่เหมาะ

เมื่อสมรรถนะของคนมีไม่เท่ากัน-รูปแบบการทำงานก็ต้องปรับเปลี่ยนไปให้เหมาะสมเช่นกัน

ขอเปลี่ยนกลับไปทำหน้าที่กึ่งๆ HRD อีกสักครั้งนะครับสำหรับการเขียน Blog ในครั้งนี้ ทำให้ย้อนนึกถึงการทำงานในสมัยหนึ่งก่อนที่จะผันตัวออกมาเป็นที่ปรึกษา โดยรับผิดชอบในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อทำหน้าที่เป็น Training manager จนเกือบหันไปเอาดีทางงาน HR ซะแล้ว 555

แต่เอากันจริงๆ แล้ว งานพัฒนาบุคลากรนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติงานในทุก Functional ของงานเลยนะครับ โดยเฉพาะคนที่เป็นหัวหน้างาน หรือคนที่ต้องทำหน้าที่ควบคุมวง Orchestra ของ Supply Chain ยิ่งต้องมีรูปแบบและศิลปะในการจูงใจ โน้มน้าว สั่งการ ควบคุม ช่วยเหลือผู้ปฏิบัติงานอยู่เป็นกิจวัตร ดังนั้นเรามาดูกัน
"เมื่อระดับสมรรถนะของคนในหน่วยงานมีไม่เท่ากัน  แล้วจะมีวิธีการดำเนินงาน สำหรับคนที่มีระดับสมรรถะแตกต่างกันเหล่านี้ได้อย่างไร"

ก่อนอื่นในมุมมองของการจัดการให้เกิดประสิทธิภาพการดำเนินงานตลอดโซ่อุปทาน ตามแนวทางของ SCOR Model ในส่วนของ P-People ได้กำหนดว่าระดับสมรรถนะของผู้ปฏิบัติงานภายในโซ่อุปทานจะแบ่งออกได้เป็น 5 ระดับคือ

  1. ระดับ Novice หรือระดับมือใหม่ ซึ่งยังขาดความรู้ความเข้าใจ
  2. ระดับ Beginner หรือระดับผู้เริ่มต้นในการปฏิบัติงานนั้น ซึ่งยังขาดทักษะในการปฏิบัติงาน
  3. ระดับ Competent หรือระดับการทำงานที่มีความสามารถในการปฏิบัติงานได้ด้วยตัวเอง
  4. ระดับ Proficient หรือระดับการทำงานที่มีมีความชำนาญ ปฏิบัติงานและแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง
  5. ระดับ Expert หรือระดับการทำงานที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถจัดการปัญหา และให้คำปรึกษาได้
ดูหลักการของ SCOR ได้ที่ "กลั่น SCOR Model : Model เพื่อการจัดการโซ่อุปทาน ให้เรียนรู้และเข้าใจ ใน 1 Page"


เมื่อเรานำระดับสมรรถนะเหล่านี้มาสร้างความเชื่อมโยงกับลักษณะหรือรูปแบบการดำเนินงานในแบบต่างๆ ออกมาเป็นตารางความสัมพันธ์ หรือ ตาราง Matrix จะทำเห็นรูปแบบการทำงานในแต่ละมิติดังภาพ

ตารางเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินงานที่เหมาะสมตามสมรรถนะของบุคลากร

จากภาพจะเห็นได้ว่า เมื่อเราเปรียบเทียบเทียบระดับสมรรถนะ 5 ด้าน (แนวนอน) กับรูปแบบการดำเนินงานประเภทต่าง (แนวตั้ง) แล้วนำมาสร้างตารางเพื่อดูความเชื่อมโยง พบว่าเป็นดังนี้

  1. ด้านรูปแบบการสั่งการ (Instructions) สำหรับบุคลากรที่อยู่ในระดับ Novice ซึ่งขาดความรู้ความเข้าใจในงานที่ทำ ดังนั้นเมื่อสั่งการจำเป็นต้องใช้การเขียน หรือสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเป็นหลัก การสร้าง WI (Work Instruction) มีความจำเป็นมากสำหรับการทำงานในขั้นนี้ ส่วนระดับสมรรถนะอื่นๆ สามารถสั่งการด้วยคำสั่งที่คุ้นเคย ที่ใช้กันโดยทั่วไปในหน่วยงาน โดยอาจเป็นการสั่งการหรือสื่อสารทางวาจา หรือรูปแบบคำสั่งที่ใช้กันโดยทั่วไปในองค์กร
  2. ด้านสิ่งที่ต้องสื่อสาร (Orientation) ในส่วนนี้เมื่อมีการ Orientation ภายในองค์กรหรือหน่วยงาน สิ่งจำเป็นที่ต้องสื่อสารไปถึงผู้ปฏิบัติงานที่มีระดับสมรรถนะต่างๆ กัน จะเป็นดังนี้คือ
    • ระดับ Novice และระดับ Beginner ควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารเรื่องงาน (Task) ที่ต้องทำ เนื่องจากเป็นบุคลการในกลุ่มนี้มุ่งเน้นให้้เกิดการปฏิบัติที่เป็นไปตามระเบียบ วิธีการที่กำหนดไว้เป็นสำคัญ (ควรเสริมสร้างแนวคิดการทำงาน "ของสร้างจากกระบวนการที่ดี" 
    • ระดับ Competent, Proficient และ Expert ควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารเรื่องเป้าหมาย (Goal) ที่ต้องการ เนื่องจากเป็นผู้ที่ต้องคอยควบคุม กำกับ และขับเคลื่อนให้งานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้   
  3. ด้านการตัดสินใจ (Decision Making) ในกลุ่มบุคลากรที่อยู่ในระดับ Novice, Beginner และ Competent ควรพัฒนาให้มีทักษะในการการตัดสินโดยผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ส่วนในระดับ Proficient และ Expert จะใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจสูง เนื่องจากต้องการความคล่องตัวและรวดเร็วในการตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้น ดังนั้นต้องพัฒนาให้มีศักยภาพดังกล่าว เพื่อป้องกันการตัดสินที่ผิดพลาด ซึ่งผู้มีระดับสมรรถนะในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริหารขององค์กร
  4. ด้านการรับรู้ปัญหา (Problem Recognition) โดยเกือบทุกระดับสมรรถนะ จะรับรู้ปัญหาจากการวัดผล (Monitoring) เพื่อบอกปัญหา ยกเว้นระดับสมรรถนะ Expert จะใช้สัญชาตญาณเพื่อรับรู้สภาพของปัญหาหรือความผิดปกติเป็นส่วนใหญ่ 
  5. ด้านการมุ่งเน้น/รับผิดชอบ (Focus on) ในด้านนี้จะแบ่งการมุ่งเน้นออกเป็น 5 กลุ่ม ตามระดับสมรรถนะ คือ
    • ระดับ Novice หรือมือใหม่ จะมุ่งเน้นการปฏิบัติตามกระบวนการทำงานที่กำหนดไว้ โดยต้องปฏิบัติอย่างเข้าใจ และต่อเนื่อง
    • ระดับ Beginner หรือระดับเบื้องต้น จะมุ่งเน้นการนำหลักปฏิบัติต่างๆ (Practice) เทคนิคต่างๆ มาช่วยในการปฏิบัติงาน ดังนั้นเราจำเป็นต้องสอนเครื่องมือต่างๆ ในการทำงานให้คนกลุ่มนี้มากๆ
    • ระดับ Competent หรือระดับมีความสามารถในการปฏิบัติงาน จะมุ่งเน้นผลลัพธ์ของงานที่ได้ปฏิบัติเพื่อพิจารณาว่าตัวชี้วัดเหล่านั้นเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ ดังนั้นกลุ่มนี้ต้องได้รับการพัฒนาให้ทักษะเรื่องการบริหารให้เป็นไปตามเป้่าหมาย การกำหนดค่าควบคุม จุดควบคุม ในการปฏิบัติงาน
    • ระดับ Proficient  หรือระดับชำนาญ จะมุ่งเน้นการพัฒนาปรับปรุง การทำโครงการต่างๆเพื่อนำมาซึ่งประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้น ดังนั้นบุคลากรกลุ่มนี้ ควรได้รับการพัฒนาเรื่องการวางแผนและบริหารโครงการ การควบคุมโครงการ และการประเมินโครงการ เป็นต้น
    • ระดับ Expert หรือระดับเชี่ยวชาญ จะมุ่งเน้นการสร้างและขับเคลื่อนผลลัพธ์ในภาพรวมของหน่วยงาน กลุ่มนี้จำเป็นต้องมีทักษะที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม การกำหนดกลยุทธ์ การกำหนดนโยบาย และการบริหารนโยบายให้สอดคล้องตามกลยุทธ์ขององค์กร เป็นต้น
เป็นไงบ้างครับ "สมรถนะการทำงานที่ใช่ กับ Style กับทำงานที่เหมาะ" น่าจะเป็นประโยชน์และเหมาะสมกับการออกแบบระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และช่วยขับเคลื่อนการบริหารจัดการได้ตลอดโซ่อุปทาน การจัดคนและพัฒนาคนให้เหมาะกับงานที่ทำ ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่ง งานที่สอดคล้องตามความสามารถจะทำให้ผู้ทำงานเป็นสุข แต่ถ้าต่ำหรือสูงไปก็จะกลายเป็นทุกข์แทน

ลองไปประยุกต์และปรับใช้กันดูนะครับ 
"เราต้องแยกแยะงานที่ทำให้เหมาะ โดยไม่ต้องยัดเยียดทุกอย่างให้ทำ" 

มงคล  พัชรดำรงกุล
วิทยากร/ที่ปรึกษา/ผู้เชี่ยวชาญการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 
LineID : naitakeab, Tel 081-8476479 
23  มีนาคม 2561

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Inv. EP01 - บริหารคลังสินค้า VS จัดการสินค้าคงคลัง

การดำเนินกิจกรรมการจัดการคลังสินค้า และการบริหารสินค้าคงคลัง ของแต่ละสถานประกอบการ บ่อยครั้งพบว่ามีความสับสนในการกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิด...