ที่ผ่านมา หลายคนคงจะซึมซับกับคำว่า Industry 4.0 กันจนมากพอสมควรและมีความเข้าใจดีแล้ว แต่จะมีสักกี่คนที่คิดจะใช้โอกาส หรือ Opportunities ที่ประเทศกำลังจะขับเคลื่อนไปสู่ 4.0 ครั้งนี้ มาพัฒนาตน พัฒนาธุรกิจ หรือสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
ผมเป็นคนหนึ่งที่มองและคิดอยู่เสมอว่า ทุกอย่างในโลกนี้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราจำเป็นต้องก้าวให้ทัน และใช้โอกาสกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเพื่อสร้าง Value ให้ได้
หลายธุรกิจใหญ่ๆ ของโลก อาทิ FB, Alibaba, Amazon, Airbnb, Grab etc. ก็ใช้โอกาสของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างรายได้กันทั้งนั้น ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเริ่มลงมือทำของเราเองบ้าง ไม่มีคำว่าสายหรือช้าไปแน่นอน
โจทย์คือ ?
ถ้าเราเอาการจัดการ Supply Chain เป็นตัวตั้ง แล้วมีโอกาส ทักษะ หรือธุรกิจใดบ้าง ที่สามารถพัฒนาและทำให้มันเกิดขึ้นภายใต้ยุค 4.0 นี้ ผมเลยรวบรวมและศึกษาจากแนวคิดต่างๆ จากทั่วโลก และได้ตกผลึกเป็นภาพ "โอกาส ทักษะ หรือธุรกิจ เพื่อตอบสนองต่อการจัดการ Supply Chain ยุค 4.0" ดังนี้
ภาพที่1 : โอกาส (Opportunities) เพื่อการจัดการ Supply Chain ที่ดี ภาพใต้ Industry 4.0 |
- Integrated E2E Planning and Real time Execution
- คือ การบูรณาการของการวางแผนการทำงานระหว่าง E2E ในแบบ End to End และ Enterprise to Enterprise รวมทั้งสร้างการทำงานแบบ Real Time เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินที่มีประสิทธิภาพของการจัดการตลอดโซ่อุปทาน แน่นอนครับการวางแผน (Plan) คือกระบวนหลักในการจัดการ Supply Chain และเป็นต้นกำเนิดของดำเนินงานด้านอื่นๆ (คลิกดูกระบวนหลักของการจัดการ Supply Chain) ดังนั้นเราต้องพัฒนาระบบการวางแผนของเรา หรือยกระดับ ERP ของเราให้สามารถรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลผ่านการทำงานร่วมกับลูกค้า หรือ Supplier แบบ Real Time
- SCM & Logistics Visibility
- การทำให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันสามารถมองเห็นเป็นหนึ่งเดียวตลอดโซ่อุปทาน คืออีก 1 โอกาสที่องค์กรควรทำให้เกิดขึ้น และอาจสร้างโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาระบบ Monitoring และระบบ Visual Management เพื่อใช้ในการดำเนินงานดังกล่าว โดยข้อมูลที่ต้องทำให้เห็นร่วมกัน,ทั้งโซ่อุปทาน เช่น
- ข้อมูลการพยากรณ์ หรือปริมาณความต้องการ (Demand)
- ข้อมูลและสถานะการจัดซื้อต่างๆ
- ข้อมูลเกี่ยวกับ Inventory ที่จัดเก็บในแต่ละจุดที่เชื่อมโยงกัน
- ข้อมูลเกี่ยวกับสถานะการผลิต กำลังการผลิต
- ข้อมูลและสถานะการส่งมอบ
- ข้อมูลความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่างๆ เป็นต้น
- Prescriptive Supply Chain Analytic
- การวิเคราะห์ (Analytics) เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในยุคการทำงานแบบ 4.0 ดังนั้นกล่าวได้เลยว่า นี้คือโอกาส ที่สำคัญสำหรับการพัฒนาตัวตน และองค์กรให้มีศักยภาพในการทำ Analytics ซึ่งควรมองไปที่ระดับ Level 3 แต่ยังไงก็แล้วแต่หากยังไม่ได้เริ่มดำเนินการใดๆ เลย ก็คงเริ่มจากระดับ 1 ไปก่อน ทั้งนี้ทั้ง 3 ระดับ ประกอบด้วย
- ระดับที่ 1 : Descriptive Analytics เป็นรูปแบบของการวิเคราะห์ข้อมูลแบบพื้นฐานที่สุด โดยจะเน้นไปที่ความสามารถในการ “อธิบาย” ว่าเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจของ ผลการวิเคราะห์ในกลุ่มนี้ เช่น รายงานทางธุรกิจ รายงานการขาย ผลประกอบการ ผลการดำเนินงาน รวมถึงระบบ business intelligence (ฺBI)
- ระดับที่ 2 : Predictive Analytics เป็นการพยายาม “พยากรณ์” สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยใช้ข้อมูลของสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เข้ามาวิเคราะห์ร่วมกับโมเดลทางคณิตศาสตร์ หรือร่วมกับการใช้ เทคนิค data mining เพื่อพิจารณาความน่าจะเป็น ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ทำงานแบบนี้ เช่น Application ประมวลผลเวลาที่จะใช้จากระยะทางและความเร็วที่เป็น
- ระดับที่ 3 : Prescriptive Analytics ไม่เพียงแต่จะพยากรณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ยังสามารถ "ให้คำแนะนำ" เกี่ยวกับทางเลือกที่มี รวมถึงผลที่จะตามมาของแต่ละทางเลือกด้วย Prescriptive Analytics จำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่กว้างขวาง หลากหลายมากกว่าเพียงแค่ข้อมูลในอดีต และตรงประเด็นนี้เองที่มีความเกี่ยวพันกับ Big Data เป็นอย่างมาก ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ทำงานแบบนี้ เช่น การใช้ Google Map เลือกเส้นทางที่เหมาะสมจากข้อมูลการจราจรที่เกิดขึ้น
- Digital Sourcing
- รูปแบบของการจัดหาจะเปลี่ยนไปสู่การทำงานแบบ Digital มากยิ่งขึ้น เช่น
- ในอดีตเน้นการดำเนินการที่ก่อให้เกิดต้นทุนต่ำสุด แต่ในยุคใหม่ไม่จำเป็น แต่ต้องตอบสนองต่อคุณลักษณะหรือคุณสมบัติที่ต้องการมากกว่า
- ไม่มีอะไรที่ต้องทำให้สมบูรณ์แบบแล้วจะส่งต่อเพื่อดำเนินการต่อ (เช่น การจัดหาวัสดุ) แต่การทำงานจะเป็นแบบคู่ขนาน เพื่อลดระยะเวลาการทำงาน และสามารถปรับเปลี่ยนในทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงาน ดังนั้นต้องมีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนและแก้ไข
- เปลี่ยนจากต่างคนต่างทำ (Silo) เป็นแบบบูรณาการ (Integrated) ดังนั้นต้องปรับรูปแบบการทำงานเพื่อรองรับ
- ไม่มีผู้ใดครอบครองตลาดที่ชัดเจน แต่จะมีผู้ค้าที่กระจัดกระจาย ดังนั้นการวางแผนการทำงานรองรับการสั่งซื้อจากผู้ค้ารายเล็ก แต่ทำงานได้ได้ตรงความต้องการและคุ้มค่าจะเป็นทางเลือกมากขึ้น
- ระบบการทำงานที่ใช้เวลาน้อย และคล่องตัวต่อการปรับเปลี่ยน
- Intelligent Inventory Control
- Inventory ถือว่าเป็น Asset (สินทรัพย์) อย่างหนึ่งที่เราจำเป็นต้องบริหารให้มีประสิทธิภาพ เพราะเราใช้เงินลงทุนจัดซื้อจัดหามาเพื่อแปลงสภาพหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเรา มีมากเกินไปก็ก่อให้เกิดต้นทุนสูง มีน้อยเกินไปก็ไม่สามารถตอบสนองลูกค้าได้ทัน ดังนั้นเราจำเป็นต้องควบคุมให้การจัดการสินค้าคงคลังมีประสิทธิภาพ (คลิกดูกรอบกรอบแนวคิด-กระบวนการจัดการ Inventory ให้มีประสิทธิภาพ) อย่างไรก็ตามการสร้างระบบการทำงานให้สามารถควบคุมระดับ Inventory ได้อย่างเป็นอัตโนมัติและเหมาะสมและมีความเป็นอัจฉริยะ คือ โอกาสในการทำงานและธุรกิจที่ควรเป็น
- Smart Warehousing and Logistics
- การบริหารคลังสินค้าที่ดีในสมัยปัจจุบัน จะต้องสามารถรองรับการเคลื่อนย้ายของวัสดุหรือสินค้าไปยังลูกค้าหรือผู้ใช้งาน โดยเกิดการไหลได้อย่างสะดวก มีความรวดเร็ว สินค้าที่ถือครองต้องมีปริมาณที่เหมาะสม มีความแม่นยำทั้งสถานที่จัดเก็บ/ปริมาณการถือครอง และอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ภายใต้การดำเนินงานที่มุ่งขจัดความสูญเปล่าและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และลดความเสี่ยงของการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายใน และภายนอกองค์กร ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะปรับเปลี่ยนไปสู่การดำเนินงานที่เป็น Smart Warehousing and Logistics นำระบบอัตโนมัติมาช่วยในการดำเนินงานมากขึ้น
- Smart Spare Part (MRO) Management
- การเกิดของอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิต จากแรงงานคนไปเป็นเครื่องจักรมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเราจำเป็นต้องบริหารระบบสนับสนุนให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งสำคัญคือการบริหาร Spare Part หรือ MRO (Maintenance, Repair and Operation) ดังนั้น นี้คือโอกาส และทักษะที่จำเป็น ที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้น ทั้งนี้อาจพัฒนาไปสู่ความเชื่อมโยงกับระบบ Predictive maintenance
และขอฝากไว้นะครับ "อย่าได้แค่มองว่าเทคโนโลยีไปไกลแค่ไหน แต่จงใช้โอกาสในการสร้าง Value จากเทคโนโลยีที่เป็น"
มงคล พัชรดำรงกุล
วิทยากร/ที่ปรึกษา/ผู้เชี่ยวชาญการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน
LineID : naitakeab, Tel 081-8476479
05 มีนาคม 2561
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น