วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

กรอบแนวคิด-กระบวนการจัดการ Inventory ให้มีประสิทธิภาพ

English Version

ผู้บริหาร หรือผู้ปฏิบัติงานหลายคนที่ทำงานด้านการจัดการโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ ส่วนใหญ่จะมีกิจกรรมที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง หรือ Inventory Management ซึ่งในทางการบริหารแล้ว เราถือว่า Inventory เป็น Asset (สินทรัพย์) อย่างหนึ่งที่เราจำเป็นต้องบริหารให้มีประสิทธิภาพ เพราะเราใช้เงินลงทุนจัดซื้อจัดหามาเพื่อแปลงสภาพหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเรา ดังนั้นหากสินค้าคงคลังที่ถือครองอยู่

  • มีมากก็เป็นปัญหา - ถ้าเราซื้อมาเก็บก็ทำให้มีต้นทุนการเก็บรักษาที่สูง สินค้าอาจเสื่อมสภาพ หมดอายุ ล้าสมัย ถูกขโมย หรือสูญหาย เงินที่จมลงทุนไปกับสินค้าคงคลังก็ไม่สามารถนำไปหาประโยชน์ในด้านอื่นไม่ได้
  • มีน้อยก็เป็นปัญหา - ถ้าเรามีสินค้าคงคลังที่น้อยเกินอาจประสบปัญหาสินค้าขาดแคลน (Stock Out) สูญเสียโอกาสในการขายสินค้าให้แก่ลูกค้า เป็นการเปิดช่องให้คู่แข่งขันเข้ามาทดแทน และอาจเสียลูกค้าไปในที่สุด

โดยแนวคิดการปฏิบัติงาน เหตุที่เราต้องมีสินค้าคงคลัง ก็เพราะเราต้องมีไว้เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากสิ่งเหล่านี้ คือ
  1. ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาด
  2. ความต้องการที่เร่งด่วนของลูกค้า
  3. ความผิดพลาดหรือความล่าช้าในการผลิต
  4. ความผิดปกติสึกหรอของเครื่องจักร
  5. ความไม่แน่นอนของผู้ขายหรือกระบวนการก่อนหน้า
แน่นอนครับความไม่แน่นอนทั้ง 5 เป็นสิ่งที่มีความยากในการควบคุม จนเป็นเหตุให้เราจำเป็นต้องมีวัสดุหรือสินค้าคงคลัง แต่ถ้าการมีสินค้าคงคลังแล้วขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ก็เปรียบเสมือนการเดินบนเส้นทางธุรกิจที่มีความเสี่ยงจากสภาพที่ไม่สมดุลย์ (มากไป-น้อยไป) ดังนั้นหากเราจะบริหารจัดการสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพควรทำอย่างไรดี

ผมได้สร้างเป็นภาพความสัมพันธ์ของกิจกรรมการบริหารสินค้าคงคลังที่เราต้องเข้าใจ และได้ทำให้เป็นความเชื่อมโยงและดำเนินการอย่างเป็นระบบ (Systematic) เพื่อให้ง่ายต่อการอธิบายดังภาพ

กระบวนการจัดการสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพ : By Mongkol P., naitakeab@gmail.com

จากภาพจะเห็นได้ว่าแนวทางในการจัดการสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพ ควรดำเนินการดังนี้

  1. แบ่งกลุ่มการใช้ คือ บอกให้ได้ว่าวัสดุ/สินค้าคงคลังที่มียังจำเป็นที่จะต้องใช้งานอยู่ใช่หรือไหม นึกถึงหลักการ 5ส นี้คือ ส.ตัวแรกเลย คือ ส.สะสาง
  2. สินค้าคงคลังที่จำเป็นต้องใช้ให้นำมาจัดกลุ่มใหม่ เมื่อเราทราบว่าสินค้าคงคลังใดจำเป็นต้องใช้ ในขั้นตอนถัดไปที่เราต้องทำ คือ จัดกลุ่มใหม่ให้เหมาะสม ซึ่งหลายๆ องค์กรนิยมแบ่งกลุ่มเป็น ABC แต่ในความเป็นจริงการแบ่งกลุ่มไม่ได้มีแค่นี้ ลองดูอ่านข้อมูลเพิ่มเติมจาก Blog "เพราะ Inventory ไม่ได้แบ่งแค่ ABC ลองจัดให้เหมาะแบบ VED-SED ดูบ้าง" จะช่วยให้ได้คำตอบเพิ่มขึ้นนะครับ
  3. ดำเนินการคาดการณ์ความต้องการใช้ในอนาคต ใช่แล้วครับ สินค้าแต่ละรายการจะต้องได้รับการคาดการณ์ความต้องการใช้ หรือการทำ Forecasting นั่นเอง ซึ่งศาสตร์ของพยากรณ์ให้มีความแม่นยำสำหรับแต่ละองค์กร เป็นเรื่องที่สำคัญ และในแต่ละองค์กร แต่ละช่วงเวลาก็ไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคการพยากรณ์ที่เหมือนกัน เลือกให้เหมาะสมกับองค์กรคือ ดีที่สุด ครับ
  4. กำหนดปริมาณการสั่งซื้อ/ROP/SS ที่เหมาะสม  ในขั้นตอนนี้คือการคำนวนหาปริมาณ  และช่วงเวลาในการสั่งซื้อหรือเติมเต็มให้เหมาะสม พร้อมทั้งหาจุดสั่งซื้อ (ROP: Reorder point) และ SS (Safety Stock) ที่เหมาะสม โดยเครื่องมือที่มักนำมาใช้บ่อยๆ เช่น EOQ, MRP, Fix order etc) และอย่าลืมนะครับทุกครั้งที่คำนวนอย่าลืมพิจารณาเทียบกับระดับ Service Level ด้วย จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  5. กำหนด Parameter ในการสั่งซื้อ  ระบบการสั่งซื้อในปัจจุบันมักนิยมทำงานผ่าน ERP แต่ต้องเข้าใจว่า ต่อให้ ERP ดี ฉลาดและเก่งแค่ไหน มันไม่ฉลาดแน่นอนถ้า Input parameter ไม่ถูกต้อง ดังนั้นอย่าลืมตรวจสอบและเปลี่ยน parameter ของระบบการสั่งซื้อให้ถูกต้องด้วยนะครับ
  6. ดำเนินการสั่งซื้อ  เมื่อทุกอย่างกำหนดเรียบร้อยแล้ว ก็ดำเนินการจัดซื้อให้เป็นตามเงื่อนไขที่เราได้กำหนดไว้ จะใช้คน หรือ e-procurement แล้วแต่ความพร้อมขององค์กร แต่ควรควบคุมการทำงานของ Supplier ให้เป็นไปตามเงื่อนไขนั้นๆ
  7. ตรวจสอบ/ประเมินผลการดำเนินงาน  สิ่งสำคัญที่ต้องทำและขาดไม่ได้ คือ การสร้างระบบการตรวจสอบและควบคุมประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อเป็นกระจกสะท้อนสิ่งที่ดำเนินการ โดยทั่วไปตามหลักการของ Supply Chain การวัดผลที่ดีต้องว่า 5 ด้าน คือ ความน่าเชื่อถือ (Reliability) ความรวดเร็วในการตอบสนอง (Responsiveness) ความคล่องตัว (Agility) ต้นทุน (Cost) และประสิทธิภาพของการจัดการสินทรัพย์ (Asset management Efficiency) โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Blog "พีระมิดสมรรถนะ : ตัวชี้วัดเพื่อควบคุมและจัดการประสิทธิผลอย่างมีประสิทธิภาพทั้ง Supply Chain"  ทั้งนี้ผลลัพธ์จากการตรวจสอบและควบคุม สามารถนำเครื่องมือหรือหลักการปฏิบัติต่างๆ (Tools and Practice) ที่มีมากมายมาใช้ในการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นๆ และอย่าลืมวนกลับไปทบทวนการจัดแบ่งสินค้าคงคลังให้เหมาะสมอยู่เสมอๆ ด้วยนะครับ 
เป็นไงบ้างครับ แนวทางการจัดการสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อ่านและผู้ที่พบเห็น Blog นี้ทุกท่านนะครับ แนะนำติดชม ใดๆ ก็ยินดีครับ

มงคล  พัชรดำรงกุล
วิทยากร/ที่ปรึกษา/ผู้เชี่ยวชาญการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 
LineID : naitakeab, Tel 081-8476479 
06 กุมภาพันธ์ 2561

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Inv. EP01 - บริหารคลังสินค้า VS จัดการสินค้าคงคลัง

การดำเนินกิจกรรมการจัดการคลังสินค้า และการบริหารสินค้าคงคลัง ของแต่ละสถานประกอบการ บ่อยครั้งพบว่ามีความสับสนในการกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิด...