วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561

ผลกระทบของ Industry 4.0 ต่อการจัดการโซ่อุปทาน

ในช่วงนี้ เดินไปทางไหน อะไรๆ ก็ 4.0

แน่นอนครับ ชีวิตหน้าที่การงานผมส่วนใหญ่คลุกคลีอยู่ในวงการอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ผมจะต้องเกี่ยวกับคำว่า Industry 4.0 โดยปริยาย ทั้งที่ความรู้สึกส่วนตัวอยากอยู่เงียบๆ ทำงานอย่างมีความสุขทุกวันๆ สร้างสรรค์นวัตกรรมการทำงานใหม่ๆ มาใช้ในประเทศ ในแบบไทยสไตล์มากกว่า

Industry 4.0 คำนี้ก่อกำเนิดจากประเทศเยอรมันนี เมื่อปี 2013 เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศ โดยส่วนตัวผม ผมว่ามันเป็นยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับประเทศของเขานะ อย่างน้อยๆ เขาใช้จุดแข็ง (S) กับโอกาส (O) ที่มี เป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งเราจะลืมไม่ได้เลยว่าเยอรมันมีดีคือ

1. ระบบ ERP, Software ที่เป็นเบอร์ต้นๆ ของโลก อย่าง SAP ซึ่งก่อนกำเนิดจากที่นี้
2. เครื่องจักรทันสมัยๆ มีคุณภาพของโลกหลายแบรนด์ เช่น Siemens ก็กำเนิดจากที่นี้

แล้วจะยากอะไรที่วันหนึ่งเยอรมันนีประกาศตัวอย่างชัดเจนจะทำให้ 2 สิ่งนี้ผนวกเข้าหากัน และขับเคลื่อนประเทศภายใต้ Wording ที่สวยงามสะดุดหูไปทั่วโลกว่า "Industry 4.0" 

ส่วนประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรา ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าพร้อมสักกี่มากน้อย ที่จะก้าวสู่การเป็น Developer ใน Industry 4.0 เพื่อเป็น Smart Factory เช่นเขา หรือสุดท้ายเราจะได้เป็น User ใน Industry 4.0 ตามที่เราถนัด ทั้งนี้บ่อยครั้งที่ผมทำหน้าที่เป็นวิทยากรที่ปรึกษาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับสถานประกอบการต่างๆ ในการเตรียมความพร้อมเข้าสูอุตสาหกรรม 4.0 นั้น ผมมักฝากให้ผู้ประกอบการทั้งหลายคิดเสมอว่า "การที่เราจะไปสู่ Industry 4.0 คือ ภาระที่จำเป็น และ Trend ก็เป็นเช่นนั้น สิ่งรอบข้างจะทำให้เราเปลี่ยน แต่สิ่งหนึ่งที่เราควรทำในระหว่างเส้นทางที่เราเดิน คือ การทำ 4.0 ในสไตล์ประเทศไทยของเรา และเป็นไปได้ไหม ที่จะใช้ Resource ทั้งหลาย ที่ผลิตและสร้างขึ้นได้โดยคนไทย"

คำว่า Resources บ่งบอกถึงนัยหลายๆ แต่ผมอยากให้เราเน้นไปที่ 4M คือ Man, Machine, Material และ Method กล่าวคือ
1. ทำให้ 4.0 ของเรา ใช้ M-Machine ที่สร้างขึ้นจากคนไทย
2. ทำให้ 4.0 ของเรา ใช้ M-Material ที่ผลิตหรือแปรรูปโดยคนไทย
3. ทำให้ 4.0 ของเรา ใช้ M-Method ที่ออกแบบกระบวนการทำงานโดยคนไทย
4. ทำให้ 4.0 ของเรา ใช้ M-Man ในการขับเคลื่อน Value เหล่านั้นโดยคนไทย

หากทั้ง 4M ที่กล่าวถึงเกิดขึ้นได้ จะทำให้คนไทยอีกหลายๆ คนยังมีงานทำ ยังมีรายได้ แต่ถ้าเราเอาแต่นำเข้า พึ่งพิงต่างชาติเพื่อสร้าง 4.0 ให้กับประเทศ แน่นอนครับประเทศที่ได้ประโยชน์คงไม่ใช่เรา แต่เมืองไทยเราจะมีประชากรหุ่นยนต์ เครื่องจักร ที่ทำงานและกินอาหารนำเข้า เจ็บป่วยก็ต้องพึ่งหมอต่างชาติ ส่วนคนไทยอย่างเราก็อาจเป็นได้แค่ลูกมือ ช่วยขนของ

ลองจินตนาการดูนะครับหากผมมีเงินหรือได้เงินสนับสนุน  ผมซื้อเทคโนโลยี ผมซื้อเครื่องจักร ผมเปลี่ยนโรงงานผมเป็นอัตโมมัติ โรงงานผมเป็น Smart Factory โรงงานผมเป็น 4.0 นักข่าว สังคม Social ช่วยกระพือชื่นชมว่าโรงงานผมเป็นอัจฉริยะ ผมดีใจ ผมทำได้ แต่ผมควรภูมิใจ หรือเสียใจที่ในสิ่งผมทำดี

ผมได้โรงงาน 4.0 ผมมีพื้นที่ผลิตที่ผ่านกระบวนการ Import พร้อมค่าใช้จ่ายก่อนโตในอนาคตให้ต่างชาติสำหรับค่าเครื่องจักรและอะไหล่ ค่า Maintenance ค่า Service และอื่นๆ อีกมากมาย ผมผลิตสินค้ามีคุณภาพดี แต่ทำไมต้นทุนของผมยังสูงกว่าต่างชาติ สูงกว่าการผลิตในประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเจ้าของเครื่องจักร ด้านการตลาดสินค้าผมไม่ไม่มีจุดขาย เพราะที่ไหนในโลกนี้ก็ผลิตได้ภายใต้เครื่องจักรแบบเดียวกัน Value Creation ผมไม่มีเลย และ.......อีกหลายเรื่องราวที่อาจจะตามมา

ใช่แล้วครับ หากท่านคิดคล้ายๆ ผมเราสามารถกำหนดเส้นทางเดินที่เหมาะสมของเราได้ เส้นทางที่จะพาท่านและสถานประกอบการของท่านไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง ภายใต้เป้าหมาย Industry 4.0 ผมเชื่อมั่นใจว่ามีคนไทยอีกหลายคนที่มีความสามารถในการทำได้ เพีียงแต่เขาไม่มีโอกาสและถูกเรียกมาใช้งาน  มาร่วมกันสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในวงการอุตสาหกรรมไทยกันนะครับ

นอกเรื่องเกี่ยวกับ 4.0 ไปเยอะ กลับมาสู่เรื่องราวของเราเกี่ยวกับการจัดการโซ่อุปทานดีกว่า 555 กล่าวคือ เมื่อปีที่แล้วผมได้มีโอกาสนำเสนอสิ่งที่เป็นผลจาก Industry 4.0 แล้วจะทำให้การจัดการ Supply Chain เปลี่ยนรูปไปอย่างไร ก็เลยทำเป็นสรุปเพื่อให้เป็นภาพเดียว และเห็นถึงความเชื่อมโยงของสิ่งที่จะเกิดขึ้น จนกระทั่งไปถึงสิ่งที่เราต้องปรับตัวในการจัดการโช่อุปทาน ดังภาพ


จากภาพจะเห็นได้ว่า เมื่อเกิด Industry 4.0 จะทำให้เกิด Intelligent Factory โดยมี Key Impact 4 ด้าน คือ
  1. Smart factories ระบบการผลิตอัตโนมัติ และยืดหยุ่น เกิดการบูรณาการร่วมกันทั้งลูกค้าและพันธมิตรที่อยู่ในวงจรของผลิตภัณฑ์
  1. Internet of Services การเชื่อมต่อของระบบสนับสนุนการผลิต และปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตเสมือนจริง ในกระบวนการทางธุรกิจใหม่ๆ และส่งผลต่อการออกแบบระบบโช่อุปทานที่เหมาะสมในการทำงาน
  1. Advanced analytics ข้อมูลจำนวนมาก และการคาดการณ์ไม่ใช่เพียงการวิเคราะห์เฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในการผลิต หรือจุดใดจุดหนึ่ง แต่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อการดำเนินงานอย่างเต็มที่ทั้งระบบ
  1. Focus on knowledge worker ความซับซ้อนของการแก้ปัญหาที่มากขึ้น จำเป็นต้องใช้ทักษะเชิงวิศวกรรมในการจัดการปัญหามากขึ้น
และ Key impact ทั้ง 4 ด้านนี้เองจะส่งผลให้การจัดการโซ่อุปทานเปลี่ยนไป จะกระทั่งมีหลายสิ่งที่ต้องสร้างความขัดเจนและเป็นรูปธรรมในการจัดการตลอดโซ่อุปทาน กล่าวโดยสรุป คือ
  • รู้ความพร้อมของวัตถุดิบ, ชิ้นส่วน และสินค้าสำเร็จรูปในทุกๆจุด ตลอดโซุอุปทาน
  • กำหนดระดับสินค้าคงคลังขั้นต่ำที่ควรเป็น ในแต่ละจุดภายในโซ่อุปทาน
  • ปรับปรุงให้มี Lead time ที่สั้น (การเคลื่อนย้ายของวัสดุต้องทำได้รวดเร็ว)
  • การไหลของข้อมูลต้นน้ำ และข้อมูลปลายน้ำต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว
  • ต้องทราบกำลังความสามารถตลอดโซ่อุปทาน และสามารถกำหนด Stock buffering ที่สอดคล้อง
  • มีการจัดการและกำหนดจุดควบคุมในแต่ละกระบวนการดำเนินงานตลอดโซ่อุปทาน
  • การวางแผนและดำเนินการด้วยข้อมูลความต้องการที่แท้จริง/ใช้จริง ต้องเข้าใจว่าลูกค้ามีพฤติกรรมอย่างไร ไม่ใช้พยากรณ์ที่คาดคะเนแบบมั่วๆ

เป็นไงกันบ้างครับ พอจะเห็นภาพสิ่งผลกระทบต่อการจัดการโซ่อุปทาน จากการเกิดของ Industry 4.0กันบ้างไหม ใครสนใจ หรือมีข้อสงสัยใดๆ สามารถสอบถาม ติดต่อกันได้ครับ หรือจะร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกันนะครับ

มงคล  พัชรดำรงกุล
30 มกราคม 2561

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Inv. EP01 - บริหารคลังสินค้า VS จัดการสินค้าคงคลัง

การดำเนินกิจกรรมการจัดการคลังสินค้า และการบริหารสินค้าคงคลัง ของแต่ละสถานประกอบการ บ่อยครั้งพบว่ามีความสับสนในการกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิด...